วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

แอนดรอยด์ 4.2 การปฏิวัติครั้งใหม่จากกูเกิ้ล!!


เมื่อไหร่ก็ตามที่กูเกิ้ลเปิดตัวแอนดรอยด์ตัวใหม่ มักจะมีอะไรออกมาให้เราต้องร้องว้าวอยู่เสมอเลย และในรอบนี้ก็เช่นกันที่กูเกิ้ลได้นำไม้ตายลับสุดยอดลงมาทำเป็นฟังก์ชั่นเสริมตัวใหม่ให้แอนดรอยด์ของเราดูน่าใช้ขึ้นไปอีก พร้อมๆ กับการเปิดตัวของสองพี่น้องแอนดรอยด์ตระกูลเน็กซัสตัวใหม่ กูเกิ้ล เน็กซัส 4 และกูเกิ้ล เน็กซัส 10 ที่จะมาเป็นตัวชูโรงในวงการแอนดรอยด์ในปีใหม่นี้

ความสามารถ Photo Sphere บนกล้องของแอนดรอยด์ 4.2

นี่แหละครับ ฟังก์ชั่นทีเด็ดที่ว่า เพื่อนๆ เคยเล่นเครื่องมือที่เรียกว่า “สตรีทวิว” ของกูเกิ้ลกันบ้างมั้ยครับ? ด้วยเครื่องมือตัวนี้เราสามารถที่จะมองดูทิวทัศน์รอบๆ ตัวเราได้แบบ 360 องศาราวกับว่าเรากำลังยืนอยู่ในสถานที่ที่เรากำลังยืนดูอยู่จริงๆ เพียงแค่คลิ้กเมาส์หมุนไปรอบๆ ทิศทางเท่านั้นเอง วิธีการถ่ายรูปไปแสดงในระบบแผนที่ตัวนี้ กูเกิ้ลก็จะใช้รถที่ดัดแปลงมาเป็นพิเศษโดยการติดกล้องที่มีรูปทรงเป็นทรงกลมไว้บนหลังคารถ แน่นอนครับว่าด้วยกล้องตัวนี้ มันสามารถถ่ายรูปได้รอบทิศทางในขณะที่ตัวรถกำลังวิ่งอยู่ตามเส้นทางทำให้ได้ภาพอย่างที่เราเห็นในสตรีทวิวออกมานั่นเอง
หลักการของ Photo Sphere ที่ถูกเพิ่มลงไปในฟังก์ชั่นของแอนดรอยด์ 4.2 นี้ เรียกได้ว่าถอดแบบมาจากการถ่ายภาพของสตรีทวิวได้เลยในเรื่องของหลักการถ่าย เพียงแต่ว่าด้วยกล้องของแอนดรอยด์ที่สามารถถ่ายได้ทีละมุม ไม่เหมือนกล้องทรงกลมของรถจากกูเกิ้ลที่ถ่ายได้รอบทิศทาง การจะถ่ายรูปรอบตัวเราได้นั้นก็ต้องออกแรงกันหน่อย คือเมื่อเรากดชัตเตอร์ลงไปแล้วตัวกล้องจะเริ่มทำการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง จากนั้นเราต้องทำการหมุนทิศทางของกล้องไปในทิศทางรอบๆ ตัว เพื่อให้ได้รูปถ่ายที่ทั่วทุกทิศทาง ระหว่างที่กำลังถ่ายรูปก็ไม่ต้องกลัวเลยว่ารูปที่ถ่ายออกมาจะไม่ต่อเนื่องกัน เพราะตัวกล้องค่อนข้างฉลาด สามารถคำนวณได้ว่ารูปที่ถ่ายออกมาควรจะวางไว้ที่ตำแหน่งไหน ที่ควรระวังมากที่สุดคืออย่าให้ตัวเราขยับออกไปจากตำแหน่งที่เราถ่ายรูปช็อคแรกมากเกินไปเท่านั้นเอง บนหน้าจอเครื่องแอนดรอยด์ของเราก็จะมีรูปที่ตัวเครื่องประมวลผลให้เสร็จแล้วแสดงออกมาด้วย ถ้าเห็นว่ามุมไหนไม่สวย และมีภาพวัตถุเคลื่อนไหวทำให้ภาพเบลอเราก็สามารถหมุนเครื่องกลับไปที่มุมเดิมเพื่อถ่ายซ้ำได้ เมื่อได้รูปที่พอใจแล้วให้กดยืนยันจากนั้นเราก็ได้รูปที่ตัวเครื่องประมวลผลออกมาจนเสร็จ นำไปแชร์ให้เพื่อนๆ บนโซเชียลเน็ตเวิร์คได้เห็นกันแล้ว

คีย์บอร์ดระบบสัมผัสแบบลากนิ้วเพื่อสร้างคำ (Gesture Typing)


เพื่อนๆ คนไหนที่ใช้แอนดรอย์กันอยู่แล้วคงรู้จักคีย์บอร์ดที่มีชื่อว่า “Swype” กันดี ด้วยคีย์บอร์ดตัวนี้เราสามารถที่จะพิมพ์ลงไปบนคีย์บอร์ดด้วยการลากนิ้วไปมา และยกนิ้วเพียงครั้งเดียวเพื่อสร้างคำใหม่ได้ในทันที เพราะว่าฟังก์ชั่นนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้ใช้แอนดรอยด์์อยู่แล้ว สุดท้ายกูเกิ้ลจึงจับมันยัดเข้ามาเป็นหนึ่งในฟังก์ชั่นของคีย์บอร์ดตัวใหม่ของแอนดรอยด์ 4.2 เสียเลย
นอกจากความสามารถของ Gesture Typing แล้ว กูเกิ้ลยังได้เพิ่มประสิทธิภาพของคีย์บอร์ดตัวใหม่ด้วยระบบ Text-To-Speech หรือระบบแปลงเสียงพูดของเราเป็นตัวหนังสือให้สามารถทำงานแบบออฟไลน์ หรือไม่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้อีก แต่ฟังก์ชั่นนี้คนไทยสำเนียงภาษาอังกฤษไม่ดีเท่าไหร่ก็อย่าไปฝืนใช้มันมากล่ะ นึกภาพถึงคนพยายามคุยกับ Siri บน iPhone แล้วไม่เข้าใจกันซักที เดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องตลกเอามากกว่า

รองรับระบบผู้ใช้งานหลายคน

นี่คืออีกหนึ่งความสามารถที่จะมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้ใช้แอนดรอยด์เลยทีเดียว มันคือความสามารถที่ทำให้เราสามารถตั้งค่าสิทธิการใช้งานเครื่องได้ในหลายระดับ จำกัดสิทธิในการใช้งาน รวมถึงการสร้างโปรไฟล์ของการใช้งานแบ่งออกไปเป็นของผู้ใช้งานของแต่ละคนได้
ด้วยความสามารถนี้ทำให้เครื่องแอนดรอยด์ตัวเดียว สามารถนำไปแชร์กันใช้หลายคนได้มากขึ้น อย่างเช่นในครอบครัว คุณพ่อใช้เครื่องแอนดรอยด์ทำงาน มีไฟล์เอกสารและแอพฯ ต่างๆ เก็บไว้ไม่ต้องการให้คุณลูกที่ต้องการใช้เครื่องเพียงแค่เล่นเกมหรืออ่านหนังสือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับไฟล์เหล่านั้น คุณพ่อก็สามารถที่จะกำหนดสิทธิโดยการสร้างโปรไฟล์ของตัวเองให้สามารถเข้าถึงไฟล์เหล่านั้นได้ และกำหนดโปรไฟล์ของลูกให้สิทธิใช้งานได้เพียงแค่เล่นเกมได้เท่านั้น

Google Cards เพื่อนที่รู้ใจเรายิ่งขึ้นไปเอง

หลังจากที่กูเกิ้ลเปิดตัวความสามารถตัวนี้ไปพร้อมกับการมาของแอนดรอยด์ 4.1 ไปแล้ว กูเกิ้ลก็ยังพัฒนาความสามารถนี้กันอย่างต่อเนื่อง ถึงขั้นที่ว่าอยากให้มันเป็นเพื่อนที่รู้ใจเรายิ่งกว่าแฟนข้างกายกันไปเลยทีเดียว ด้วยแอพฯ ตัวนี้มันจะบันทึกพฤติกรรมการใช้งานของเรา ว่าเรามีความสนใจด้านใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ หรือว่าประเภทของแอพฯ ต่างๆ จากนั้นมันก็จะเอาข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และก็นำเสนอิ่งที่เราคาดว่าจะสนใจออกมาบนการ์ดบนหน้าจอเครื่องให้เราเห็นกัน และในแอนดรอยด์ 4.2 นี้กูเกิ้ลก็ได้ทำให้มันเจ๋งขึ้นไปอีกด้วยการเพิ่มการ์ดใหม่ๆ ที่สามารถแสดงรูปภาพของสิ่งที่คาดว่าเราจะสนใจและอยู่ใกล้ตัวเรา รวมถึงการ์ดรายละเอียดของสิ่งของที่เรากำลังต้องการอีกด้วย

Quick Settings

หลังจากการมาของแอนดรอยด์ 3.0 ปุ่มการตั้งค่าก็ถูกย้ายไปอยู่ในส่วนของ Notification Bar จากเดิมที่เคยต้องกดปุ่ม Menu บนตัวเครื่องเพื่อเรียกเมนูนี้ขึ้นมา แต่ในแอยดรอยด์ 4.2 กูเกิ้ลทำให้การใช้งานมันง่ายขึ้นอีกด้วยการใช้ลูกเล่นการสัมผัสในหน้าจอเข้ามาช่วย เพียงแค่เราใช้ 2 นิ้วกดลงบนหน้าจอและลากลงมาก็จะเห็นเมนู Setting รวมทั้ง Widget ของการตั้งค่าอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่

Lock Screen Widget


ปกติแล้วเวลาเราจะเรียกการใช้งานแอพฯ ใดก็ตาม เราจะต้องทำการปลดล็อคเครื่องก่อน จากนั้นจึงจะสามารถเปิดแอพฯ ขึ้นมาได้ แต่ตอนนี้กูเกิ้ลได้ทำให้มันใช้การใช้งานง่ายขึ้นด้วยการทำให้เราสามารถใส่ Widget ของแอพฯ ที่ต้องการใช้งานลงบนหน้า Lock Screen ได้เลย

การส่งสัญญาณภาพผ่านสัญญาณ Wireless

จากนี้ไปเราแทบไม่ต้องห่วงอีกต่อไปแล้วว่าทีวีของเราจะรองรับการแชร์ภาพจากเครื่องแอนดรอยด์ที่มีหลายระบบทั้ง DLNA หรือว่าระบบอื่นๆ ซึ่งมีหลายมาตรฐาน และต้องใช้อุปกรณ์หลายตัวกว่าจะสามารถเชื่อมต่อได้สำเร็จ แต่ตอนนี้ด้วยระบบ Wireless Display Sharing เพียงแค่เรามีทีวีที่รองรับ HDMI ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานกลางอยู่แล้ว และต่อตัวอุปกรณ์รับสัญญาณ Wireless เข้าไปที่ช่องนี้ จากนั้นเราก็สามารถแชร์สัญญาณภาพผ่าน Wireless จากแอนดรอยด์เข้าไปยังทีวีได้แล้ว
ด้วยความสามารถใหม่ๆ แต่ละอย่างของแอนดรอยด์นี่แหละครับ จากนี้ไปไลฟ์สไตล์ของการใช้งานสมาร์ทโฟนของเราจะถูกยกระดับขึ้นไปอีก ไม่ว่าอย่างไรมันก็เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้เราอยู่แล้ว ใช้งานมันให้ถูกวิธีครับ แล้วชีวิตที่เร่งด่วนของเพื่อนๆ จะดูเรียบง่ายขึ้นเยอะเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น